เจ้าชายอัลเบิร์ตแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา หรือ ฟรานซิส ออกัสตัส ชาร์ลส์ อัลเบิร์ต เอ็มมานูเอล (ต่อมาทรงดำรงพระอิสริยยศ เจ้าฟ้าชายพระราชสวามี; 26 สิงหาคม พ.ศ. 2362 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2404) พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ พระองค์เป็นพระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถแห่งสหราชอาณาจักรเพียงพระองค์เดียวที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าชายพระราชสวามี อย่างเป็นทางการ ภายหลังจากการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย เมื่อในปี พ.ศ. 2444 ราชวงศ์ซัคเซิน-โคบูร์กและโกทาก็ได้สืบราชบัลลังก์อังกฤษต่อจากราชวงศ์ฮาโนเวอร์
เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตประสูติ ณ ปราสาทโรเซอเนา ใกล้กับเมืองโคบูร์ก (เมื่อก่อนอยู่ในดัชชีซัคเซินและปัจจุบันอยู่ในรัฐบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี) โดยเป็นพระโอรสพระองค์ที่สองของแอร์นส์ที่ 1 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทา กับพระชายาองค์แรกคือ เจ้าหญิงหลุยส์แห่งซัคเซิน-โกทา-อัลเทินบูร์ก เจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งซัคเซิน-โคบูร์ก-ซาลเฟลด์ พระปิตุจฉาของเจ้าชายทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ออกัสตัส ดยุกแห่งเคนต์ พระราชโอรสองค์ที่สี่ของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร พระองค์เป็นพระชนนีในสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ดังนั้นเจ้าชายอัลเบิร์ตและพระอัครราชชายาในอนาคตจึงเป็นพระญาติชั้นที่หนึ่งและประสูติในปีเดียวกัน
เจ้าชายอัลเบิร์ตและเจ้าชายแอร์นส์ พระเชษฐาทรงใช้ชีวิตวัยเยาว์ในความเป็นเพื่อนอันสนิทสนม ซึ่งได้รับผลร้ายจากชีวิตคู่ที่วุ่นวายและการแยกกันอยู่ในท้ายสุดของพระชนกและพระชนนี ทั้งสองพระองค์ทรงเทิดทูนพระชนนีซึ่งเสด็จลี้ภัยออกจากราชสำนักและทรงถูกห้ามไม่ให้พบกับพระโอรสทั้งสองอีก และก็ได้สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคมะเร็งขณะมีพระชนมายุ 30 พรรษา ทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการศึกษาที่ดี โดยทรงเข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยบอนน์เช่นเจ้าชายองค์อื่นๆ เจ้าชายอัลเบิร์ตทรงเลือกเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เศรษฐกิจการเมืองและปรัชญา นอกจากนั้นพระองค์ยังศึกษาวิชาดนตรี การวาดภาพ และทรงพระปรีชาในวิชาพลศึกษา โดยเฉพาะการฟันดาบ
ความคิดในเรื่องการอภิเษกสมรสระหว่างเจ้าชายอัลเบิร์ตกับเจ้าหญิงวิกตอเรีย พระญาติได้อยู่ในใจของสมเด็จพระราชาธิบดีเลโอโพลด์ที่ 1 แห่งเบลเยียม พระราชมาตุลาของทั้งสองพระองค์ และดัชเชสแห่งเคนต์ พระชนนีของเจ้าหญิงวิกตอเรีย (พระเชษฐภคินีในกษัตริย์เลโอโพลด์) ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2379 ดยุกแห่งซัคเซิน-โคบูร์กและโกทาพร้อมกับพระโอรสทั้งสองพระองค์เสด็จเยือนยังพระราชวังเคนซิงตัน ที่ซึ่งเจ้าหญิงวิกตอเรียแห่งเคนต์ (พระอิสริยยศขณะนั้น) ประทับอยู่ เพื่อการพบปะกับพระองค์
การเสด็จมาเยือนในครั้งนี้สร้างความไม่พอพระทัยแก่สมเด็จพระเจ้าวิลเลียมที่ 4 พระราชปิตุลาของเจ้าหญิงวิกตอเรีย ที่ไม่ทรงเห็นด้วยกับการเลือกคู่ของรัชทายาท และโปรดเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ พระราชโอรสพระองค์ที่สองในสมเด็จพระราชาธิบดีวิลเลี่ยมที่ 2 แห่งเนเธอร์แลนด์
เดือนตุลาคม พ.ศ. 2382 หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียครองราชย์แล้วได้ 2 ปีเศษ เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต พร้อมด้วยพระเชษฐาเจ้าฟ้าชายเอิร์นสท์ เสด็จเยือนอังกฤษอีกครั้งเพื่อตกลงครั้งสุดท้าย ทั้ง 2 พระองค์ทรงหมั้นกันเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2382 สมเด็จพระราชินีนาถทรงร่างพระราชสาสน์แสดงพระราชประสงค์จะเสกสมรสถึงสภาเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ปีเดียวกันนั้น และในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2383 ทั้งสองก็เข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรส ที่พระราชวังเซ้นท์เจมส์ ก่อนวันพระราชพิธี 4 วัน สมเด็จพระราชินีนาถมีพระราชโองการสถาปนาพระคู่หมั้นให้ดำรงพระอิสริยยศเป็น เจ้าฟ้า (HRH) แห่งสหราชอาณาจักร พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งเป็นอภิรัฐมนตรีสภา อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีอังกฤษในขณะนั้น (ลอร์ดเมาเบิร์น) คัดค้านพระราชดำริที่จะพระราชทานพระอิสริยยศ สมเด็จพระราชาราชสวามี (King consort)
แต่ส่วนพระองค์เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตแล้ว พระองค์ไม่ทรงพระราชประสงค์พระอิสริยยศของทางฝั่งอังกฤษเลย เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตทรงบันทึกไว้ว่า "เหมือนกับเป็นการก้าวถอยหลัง สำหรับการเป็นเพียงดยุกแห่งซัคเซิน เรารู้สึกว่าตัวเราเองสูงส่งกว่าดยุกแห่งยอร์ค หรือแห่งเคนท์มากนัก พระอิสริยยศของพระองค์ในประเทศอังกฤษ รวมทั้งเครือจักรภพอื่นๆ (ตามพระบรมราชโองการของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2383 สถาปนาพระองค์ให้ทรงเป็นเพียง) เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต (HRH the Prince Albert) เท่านั้น จนกระทั่งอีก 17 ปีต่อมาพระองค์จึงทรงได้รับการพระราชทานสถาปนาเป็น เจ้าชายพระราชสวามี (the Prince consort) แต่ตลอดชั่วพระชนม์ชีพนั้น พระองค์ทรงเป็นที่รู้จักในพระราชสมัญญาเจ้าชายพระราชสวามี ตลอดอยู่แล้ว
เจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ตเป็นที่รู้จักกันดีในพระราชสมัญญา "ตาแห่งยุโรป" (Grandfather of Europe) จากการเสกสมรสกับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย พระองค์มีพระเจ้าลูกเธอ 9 พระองค์ และมีพระเจ้าหลานเธอ 40 พระองค์ ซึ่งบางพระองค์ได้เสด็จขึ้นเถลิงราชย์เช่น สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร, สมเด็จพระจักรพรรดิวิลเลียมที่ 2 แห่งเยอรมัน, สมเด็จพระราชาธิบดีโอลาฟที่ 5 แห่งนอร์เวย์, สมเด็จพระราชาธิบดีคาโรลที่ 2 แห่งโรมาเนีย, สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จที่ 2 แห่งกรีซ, สมเด็จพระราชาธิบดีอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งกรีซ, สมเด็จพระเจ้าพอลที่ 1 แห่งกรีซ, เจ้าฟ้าชายวอลดิเมอร์ ซึ่งเป็นรัชทายาทผู้จะสืบราชบัลลังก์รัสเซีย, สมเด็จพระราชินีโซฟีแห่งกรีก, สมเด็จพระราชินีม็อดแห่งนอร์เวย์, สมเด็จพระจักรพรรดินีอเล็กซานดราแห่งรัสเซีย, สมเด็จพระราชินีมารีแห่งโรมาเนีย และสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งสเปน
พระราชนัดดาของพระราชนัดดาของพระองค์คือพระเจ้าแผ่นดินประเทศยุโรปทุกพระองค์ในปัจจุบัน (ยกเว้นสมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์ แห่งเนเธอร์แลนด์) คือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร, สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธที่ 2 แห่งเดนมาร์ก, สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งสวีเดน, สมเด็จพระราชาธิบดีควน การ์โลสที่ 1 แห่งสเปน, สมเด็จพระราชาธิบดีคอนสแตนตินที่ 2 แห่งกรีซ นอกจากนี้ยังรวมถึงสมเด็จพระราชินีแอนน์ มารีแห่งกรีซ และเจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ด้วย
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต ทรงพระนิพนธ์พระราชประวัติสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และเจ้าฟ้าชายอัลเบิร์ต ไว้ในแบบนวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง "พระราชินีนาถวิคตอเรีย" (สะกดตามที่ทรงใช้)
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/เจ้าชายอัลเบิร์ต_พระราชสวามี